วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ หรือ สงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย[1] เป็นหนึ่งในสงครามครั้งแรก ๆ ระหว่างอาณาจักรอยุธยากับอาณาจักรพม่า สงครามเริ่มขึ้นนับจากการรุกรานของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้แห่งราชวงศ์ตองอูผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2091 วอกศก อันเป็นผลมาจากความวุ่นวายในการผลัดแผ่นดินและการแย่งชิงราชสมบัติของอาณาจักรอยุธยา ความขัดแย้งดังกล่าวยุติลงโดยมีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นพระมหากษัตริย์อยุธยา
สงครามครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่านำมาซึ่งการรบสมัยใหม่ช่วงแรกโดยทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส และเป็นที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์ไทยว่าสมเด็จพระสุริโยทัยสวรรคตในการรบบนหลังช้าง
กองทัพอยุธยาฝ่ายตั้งรับได้รับชัยชนะและกองทัพพม่าถูกขับไล่ออกจากแผ่นดินอยุธยา แต่ในระหว่างเดินทัพกลับ กองทัพพม่าได้จับกุมพระราเมศวรและสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งเมืองพิษณุโลก ซึ่งเสียทีแก่ข้าศึกในระหว่างการไล่ตี กลับไปด้วย เพื่อแลกกับการเจรจาให้พม่าถอนทัพอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะที่ไม่เด็ดขาด จึงได้นำไปสู่การรุกรานอีกครั้งในสงครามช้างเผือก รัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ในปี พ.ศ. 2106 และสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง ในปี พ.ศ. 2112 ตามลำดับ
การขึ้นสู่อำนาจของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้
ในปี พ.ศ. 2029 เจ้าเมืองตองอูได้ก่อการกบฎต่อพระมหากษัตริย์ในอังวะ ต่อมาได้ปราบดาภิเษกตนเองเป็นพระเจ้าเมงจีโย ผู้สร้างสถาปนาราชวงศ์ตองอูและสร้างอาณาจักรใหม่ขึ้น[2] การกบฎดังกล่าวก่อให้เกิดความยุ่งยากและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกันในอาณาจักรอังวะ ซึ่งเป็นรัฐที่มีอำนาจทางตอนกลางของพม่านับตั้งแต่ พ.ศ. 1907 เจ้าฟ้าแห่งรัฐฉานทางตอนเหนือเห็นสบโอกาสที่จะรุกรานและยึดครองอังวะและสามารถผนวกดินแดนดังกล่าวในปี พ.ศ. 2070[3] แต่ความไม่พอใจต่อการปกครองของฉาน ทำให้ขุนนางและสามัญชนชาวพม่าจำนวนมากอพยพมารวมกับชาวพม่าที่ตองอู ทำให้อาณาจักรตองอูเป็นรัฐที่มีอำนาจมากขึ้น[4][5]
ในปี พ.ศ. 2074 พระเจ้าเมงจีโยเสด็จสวรรคต พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งตองอู ในปี พ.ศ. 2078 พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงยกทัพไปตีอาณาจักรมอญทางตอนใต้ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่หงสาวดี[5] จนกระทั่งปี พ.ศ. 2081 ดินแดนมอญส่วนใหญ่ รวมทั้งเมืองหลวงหงสาวดี ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้[6] ในปี พ.ศ. 2082 พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงไปยังหงสาวดี ตั้งแต่นั้นมา พระองค์จึงได้ชื่อว่าพระมหากษัตริย์แห่งหงสาวดี นอกจากนี้ เมืองที่ยิ่งใหญ่ของพม่าอย่างแปร และเมาะตะมะ ก็ตกอยู่ภายใต้กองกำลังของพระองค์ในเวลาไม่นานนัก[7]
ระหว่างสงครามเพื่อขยายพระราชอาณาเขตเหล่านี้ แม่ทัพคู่ใจของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้คือพระสหายในวัยเด็กของพระองค์ หลังจากที่ได้สมรสกับพระนางตะเกงจี พระพี่นางของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ แม่ทัพผู้นี้ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น บาเยนองจอเดงนรธา หรือเพี้ยนเป็น บุเรงนองกะยอดินนรธา มีความหมายว่า "พระเชษฐาธิราชผู้ทรงกฤษดาภินิหาร" ต่อมา บุเรงนองผู้นี้ได้รับเลือกให้เป็นทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงและมกุฎราชกุมาร[5][7] และเป็นสมัยแรกที่พม่าและอยุธยามีอาณาเขตติดต่อกันโดยตรง
ความวุ่นวายในอยุธยา
สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งสืบทอดพระราชอำนาจจากราชวงศ์อู่ทอง นับตั้งแต่ พ.ศ. 1952 พระองค์ทรงเสวยราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ. 2076 หลังจากทรงแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระรัษฎาธิราช ผู้ทรงมีพระชนมายุ 5 พรรษา และทรงครองราชย์เพียง 4 เดือน[11] ด้วยการสำเร็จโทษ[12] พระราชบิดาของพระรัษฎาธิราช คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ทรงเป็นกึ่งพระเชษฐาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตในปี พ.ศ. 2089 หลังจากทรงครองราชย์มาเป็นระยะเวลา 13 ปี พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมา คือ พระยอดฟ้า[13]
เนื่องจากพระยอดฟ้าทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่มีพระชนมายุน้อย พระราชมารดาของพระองค์ คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ จึงทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน โดยพระองค์ทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์อู่ทอง พระอุปราชและกึ่งพระเชษฐาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระเฑียรราชา ก็ทรงมีสิทธิ์ในอำนาจผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในราชสำนักกับท้าวศรีสุดาจันทร์จึงทรงออกผนวชเสีย[13] มีการกล่าวว่าแม้ก่อนการสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงมีความสัมพันธ์ผิดประเวณีกับขุนชินราช ผู้ซึ่งเป็นผู้รักษาหอพระข้างในหรือหอพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวังของกรุงศรีอยุธยา เฟอร์เนา เมนเดส ปินโต นักสำรวจชาวโปรตุเกสร่วมสมัย บันทึกข่าวลือซึ่งอ้างว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงลอบวางยาพิษพระสวามีของตนเองเพื่อที่จะยึดครองราชบัลลังก์ และอาจเป็นเพื่อต้องการที่จะฟื้นฟูราชวงศ์อู่ทองขึ้นมาใหม่ หลักฐานซึ่งสนับสนุนการกล่าวอ้างเช่นนี้ คือ การที่พระนางทรงประหารชีวิตขุนนางที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก รวมไปถึงพระยามหาเสนา และทรงแต่งตั้งคนที่พระนางโปรดขึ้นดำรงตำแหน่งแทน[14] มีการบันทึกไว้เช่นกันว่า พระนางทรงมีพระครรภ์แก่แล้วและอีกไม่นานจะประสูติพระธิดา เมื่อทรงเห็นว่าไม่อาจเก็บความลับนี้ได้แล้ว ในปี พ.ศ. 2091 พระนางจึงทรงก่อรัฐประหาร ถอดพระโอรสของพระองค์ออกจากราชบัลลังก์และแทนที่ด้วยชู้รักของตน ขุนวรวงศาธิราช เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 1548[14] ทรงพระนามว่า สมเด็จพระวรวงศาธิราช มีการกล่าวว่าพระยอดฟ้าทรงถูกสำเร็จโทษหรือถูกวางยาพิษโดยพระราชมารดาอีกด้วย[15]
รัชสมัยของขุนวรวงศาธิราชสั้นมาก ภายใน 42 วัน เจ้านายและขุนนางรัฐบาลจำนวนมากได้วางแผนที่จะถอดพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ ผู้สมคบคิดนำโดยขุนพิเรนทรเทพ ผู้สืบเชื้อสายพระมหากษัตริย์สุโขทัยจากฝั่งพระบิดา และมีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระไชยราชาธิราชทางพระมารดา[15] แผนลอบปลงพระชนม์เป็นการล่อขุนวรวงศาธิราชจากพระราชวังไปยังป่าโดยกราบทูลว่าจะไปจับช้าง และเมื่อพระมหากษัตริย์ ท้าวศรีสุดาจันทร์และพระธิดาของทั้งสองเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือประทับ ขุนพิเรนทรเทพและผู้สมคบคิดก็ลอบปลงพระชนม์ทั้งสามเสีย[16][17] พระเฑียรราชาได้ทรงรับเชิญให้สึกและสืบราชบัลลังก์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ[18] หนึ่งในพระราชกรณียกิจแรก ๆ ของพระองค์ คือ ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพเป็นพระมหากษัตริย์สุโขทัย (ในขณะนั้นเป็นรัฐบรรณาการของอยุธยา) ให้ไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ไม่นานหลังจากนั้น ขุนพิเรนทรเทพทรงได้รับสมัญญานามสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และทรงได้รับพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีย์เป็นอัครมเหสี[10][19]
หลังสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงขึ้นครองราชย์ได้นาน 7 เดือน ความในพงศาวดารระบุว่า ความวุ่นวายในการผลัดแผ่นดินแย่งชิงราชสมบัติภายในอาณาจักรอยุธยาก่อนหน้านั้นถึง 3 รัชกาล ทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะแผ่ขยายอาณาจักรอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านั้น พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงใช้เวลาสิบปีสามารถตีเมืองหงสาวดี ราชธานีของชนชาติมอญ แตก และย้ายเมืองหลวงจากตองอูลงมาสู่หงสาวดีได้สำเร็จ อีกทั้งยังทรงรวบรวมเมืองขึ้นและสถาปนาศูนย์กลางอำนาจของชนชาติพม่าขึ้นอย่างเข้มแข็งในลุ่มแม่น้ำอิระวดี เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ พระองค์ทรงปรารถนาจะได้อยุธยาเป็นรัฐบรรณาการของพม่า พระองค์ได้ทรงฉกฉวยโอกาสที่จะลงมือ[19]
พระองค์ทรงขยายกองทัพครั้งใหญ่ รวมไปทั้งการเกณฑ์ทหารและจ้างทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ดินแดนมอญ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับอยุธยา อยู่ในอำนาจ โดยพระองค์ได้ทรงใช้เป็นฐานในความพยายามยึดกรุงศรีอยุธยาอย่างมีประสิทธิภาพ[18] ตามพงศาวดารพม่า ตอนปลายปี พ.ศ. 2091 กองทัพอยุธยาขนาดเล็กได้โจมตีทวาย แต่ก็ถูกขับไล่ออกไปอย่างง่ายดาย พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงคราม และเมื่อฝ่ายอยุธยาปฏิเสธ สงครามระหว่างอยุธยากับพม่าจึงดำเนินต่อไป[20] พระองค์ทรงตัดสินพระทัยบัญชาการรบด้วยตนเองและทรงรวบรวมกองทัพที่เมาะตะมะ[21]
พงศาวดารอยุธยาระบุว่ากองทัพพม่ามีกำลังพลทหารราบ 300,000 นาย ม้า 3,000 ตัว และช้างศึก 700 เชือก[22] ซึ่งใช้อาวุธในสมัยนั้น: ดาบ ธนูและหอก[23] ทหารระดับสูงอาจใช้อาวุธอย่างนกปืนและปืนคาบศิลา[24] อาวุธสมัยใหม่นี้ได้นำเข้าสู่อาณาจักรทั้งสองนี้โดยพ่อค้าชาวโปรตุเกสก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกัน ดิเอโก ซอเรส เดอ เมลโล ชาวโปรตุเกส ได้บัญชาการกองกำลังอันประกอบด้วยทหารรับจ้างมืออาชีพ 180 คน ในกองทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ นอกจากนี้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังมีหน่วยองครักษ์ชาวโปรตุเกสจำนวน 400 นาย มอเรียนและปืนไฟของทหารเหล่านี้เลี่ยมทองไว้ ทหารเหล่านี้มีหน้าที่อารักขาพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับมีความชำนาญในทหารปืนใหญ่[25]
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2092 พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงเริ่มการรุกรานอาณาจักรอยุธยา[19] ซึ่งถือว่าเป็นการรุกรานของพม่าครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย[26] โดยพระองค์ทรงใช้เส้นทางด้านทิศใต้ จากเมาะตะมะลงไปตามแม่น้ำอัตทะรัน ข้ามที่ราบสูงมุ่งหน้าไปยังด่านเจดีย์สามองค์ และเข้าสู่ดินแดนของอยุธยา ต่อมา กองทัพพม่าได้เดินทัพไปตามแม่น้ำแควน้อยไปยังเมืองไทรโยค จากนั้นตัดผ่านไปยังแม่น้ำแควใหญ่ ก่อนที่จะเดินทางด้วยเรือมุ่งหน้าไปยังเมืองกาญจนบุรี[27] พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เสด็จพระราชดำเนินโดยมีข้าราชบริพารและช้างจำนวนมหาศาล ช้างศึกเหล่านี้ได้บรรทุกจิงกอลและปืนใหญ่บรอนซ์ ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ที่จะถูกเก็บรักษาไว้ใกล้กับองค์พระมหากษัตริย์ ในคราวนี้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงมีมหาอุปราชบุเรงนอง พระราชโอรสวัย 13 พรรษา นันทบุเรง และขุนนางที่ร่ำรวยอีกจำนวนหนึ่ง คนงานหลายร้อยคนถูกส่งออกไปตั้งค่ายซึ่งทำจากไม้ ซึ่งมีการระบายสีและเคลือบทอง แต่ในวันรุ่งขึ้น ค่ายเดิมก็ถูกรื้อและไปตั้งค่ายในตำแหน่งใหม่ต่อไป[25]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น