วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย (อังกฤษ: democracy) คือ ระบอบการปกครองของรัฐ ซึ่งบริหารอำนาจรัฐมาจากเสียงข้างมากของพลเมือง โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนโดยตรงหรือผ่านผู้แทนที่ตนเลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ หรืออาจถือตามคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า ประชาธิปไตยเป็น การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน นับเป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้น ณ นครรัฐกรีกโบราณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรุงเอเธนส์ภายหลังการก่อจลาจลเมื่อ 508 ปีก่อนคริสตกาล[1]
ในทฤษฎีทางการเมือง คำว่า "ประชาธิปไตย" สามารถหมายถึงทั้งระบอบการปกครองและปรัชญาการเมือง ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่มีการนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม[2] แต่ก็ได้ปรากฏให้เห็นหลักการสองหลักการที่ให้การนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย" แล้ว คือ ความเสมอภาคและอิสรภาพ[3][4][5] หลักการดังกล่าวถูกสะท้อนให้เห็นผ่านทางความเสมอภาคทางกฎหมายของพลเมืองทุกคน และมีสิทธิเข้าถึงอำนาจโดยเท่าเทียมกัน ส่วนอิสรภาพได้มาจากสิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองเสมอกันโดยรัฐธรรมนูญ[4][5]
ถึงแม้ว่าระบอบประชาธิปไตยจะมีจุดเริ่มต้นจากกรีซโบราณก็ตาม[6][7] ทว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้มีวิวัฒนาการสำคัญ ๆ ในวัฒนธรรมต่างชาติ อาทิ ในอินเดียโบราณ[8] สาธารณรัฐโรมัน[6] ทวีปยุโรป[6] ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้[9] มาจนถึงปัจจุบัน
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมักจะได้รับการพิจารณาโดยคนส่วนใหญ่ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการมอบสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนได้มากกว่าการปกครองในระบอบอื่น ทำให้ระบอบประชาธิปไตยได้ชื่อว่าเป็น "การปกครองระบอบสุดท้าย" และได้แผ่ขยายไปทั่วโลก[10] พร้อม ๆ กับมโนทัศน์เรื่องการออกเสียงเลือกตั้ง (อังกฤษ: suffrage) อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแม้จะได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการอันเกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน การอพยพเข้าเมือง และการกีดกันกลุ่มประชากรบางชาติพันธุ์ เป็นต้น[11]
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตยสากล[12]
ยุคโบราณ
คำว่า ประชาธิปไตย ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในแนวคิดทางการเมืองและทางปรัชญาช่วงยุคกรีซโบราณ นักปราชญ์เพลโต เปรียบเทียบประชาธิปไตย ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "การปกครองโดยผู้ถูกปกครอง" ว่าเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับระบอบราชาธิปไตย คณาธิปไตยและเศรษฐยาธิปไตย[15] ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยแบบเอเธนส์จะถือว่าเป็นการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยทางตรง แต่เดิมแล้วประชาธิปไตยแบบเอเธนส์มีลักษณะเด่นอยู่สองประการ คือ ได้มีการคัดเลือกพลเมืองธรรมดาจำนวนมากเข้าสู่ระบบรัฐการและศาล[16] และมีการชุมนุมกันของพลเมืองทุกชนชั้น[17]
พลเมืองทุกคนจะได้รับสิทธิให้อภิปรายและลงมติในสภา ซึ่งเป็นที่ออกกฎหมายของนครรัฐ หากทว่า ความเป็นพลเมืองชาวเอเธนส์นั้นรวมเฉพาะแต่ชายทุกคนซึ่งเกิดจากบิดาที่เป็นพลเมืองเท่านั้น และผู้ที่กำลัง "รับราชการทหาร" ระหว่างอายุ 18-20 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่รวมไปถึงผู้หญิง ทาส คนต่างชาติ (กรีก: μετοίκος, metoikos) และชายผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ จากจำนวนผู้อยู่อาศัยกว่า 250,000 คน มีผู้ได้รับสถานะพลเมืองเพียง 30,000 คน และมีเพียง 5,000 คนเท่านั้นที่มักจะไปปรากฏตัวในสมัชชาประชาชน เจ้าพนักงานและผู้พิพากษาของรัฐบาลจำนวนมากเป็นการกำหนดเลือก มีเพียงเหล่านายพลและเจ้าพนักงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง[1]
เกาะอาร์วัด (ปัจจุบันคือ ประเทศซีเรีย) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อคริสต์สหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยชาวฟินิเซียน ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของระบอบประชาธิปไตยที่พบในโลก[18] ซึ่งที่นั่น ประชาชนจะถืออำนาจอธิปไตยของตน และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะมีความเป็นไปได้ คือ ประชาธิปไตยยุคเริ่มแรกอาจมาจากนครรัฐสุเมเรียน[19] ส่วนทางด้านเวสาลี ซึ่งปัจจุบันคือรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นหนึ่งในรัฐบาลแรกของโลกที่มีองค์ประกอบที่สามารถพิจารณาได้ว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นแห่งแรกของโลก (แต่ก็มีบางคนที่ออกมาโต้แย้งว่าการปกครองของเวสาลีนั้นไม่เป็นราชาธิปไตยก็จริง แต่น่าจะมีลักษณะเป็นคณาธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตย) และยังปรากฏว่ามีการปกครองที่คล้ายคลึงกับประชาธิปไตยหรือคณาธิปไตยเกิดขึ้นชั่วคราวโดยชาวเมเดส ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล แต่ถึงคราวสิ้นสุดเมื่อมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าดาไรอัสมหาราชแห่งราชวงศ์อาร์เคเมนิด ผู้ทรงประกาศว่า ระบอบราชาธิปไตยที่ดีนั้นย่อมเหนือกว่าระบอบคณาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ[20]
นอกจากนั้น ยังได้มีการกล่าวอ้างถึงสถาบันทางประชาธิปไตยในยุคเริ่มแรก โดยถือว่าเป็น "สาธารณรัฐ" อิสระในประเทศอินเดีย อย่างเช่น พระสงฆ์ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 แต่หลักฐานที่พบนั้นเลื่อนลอยและไม่สามารถหาแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแน่ชัด นอกจากนั้น ไดโอโดรุส ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวกรีกในรัชสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กล่าวถึงรัฐอิสระซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในอินเดีย[21] แต่ทว่าไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสมัยใหม่กล่าวว่า คำว่า ประชาธิปไตย ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลได้ถูกลดความน่าเชื่อถือลง และอาจหมายถึงรัฐอิสระซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองของประชาชนเลยแม้แต่น้อย[22][23]
ยุคกลาง
ระหว่างช่วงยุคกลาง ได้มีรูปแบบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือสมัชชา ถึงแม้ว่าบ่อยครั้ง จะเปิดโอกาสให้กับประชาชนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น อย่างเช่น เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ในนครรัฐเวนิซ ช่วงอิตาลียุคกลาง รัฐในไทรอลเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ รวมไปถึงนครพ่อค้าอิสระซะไก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในญี่ปุ่น เนื่องจากการปกครองรูปแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นประชาชนมีส่วนร่วมเพียงส่วนน้อยเท่านั้น จึงมักจะถูกจัดว่าเป็นคณาธิปไตยมากกว่า และดินแดนยุโรปในสมัยนั้นยังคงปกครองภายใต้นักบวชและขุนนางในยุคศักดินาเป็นส่วนมาก
รูปแบบการปกครองซึ่งมีความใกล้เคียงกับลักษณะระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ยิ่งขึ้นไปอีก คือ ระบบของกลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คในยูเครนระหว่างคริสต์ศัตวรรษที่ 16-17: คอสแซ็คเฮ็ตมันนาเตและซาโปริเซียน ซิค โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากตำบลต่าง ๆ ของเคานตีเลือกตำแหน่งสูงสุด ซึ่งเรียกว่า "เฮ็ตมัน" (Hetman) แต่ด้วยความที่กลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คเป็นรัฐทางการทหารอย่างเต็มตัว สิทธิของผู้ร่วมในการเลือก "เฮ็ตมัน" จึงมักจะจำกัดอยู่แต่เพียงผู้ที่รับราชการในกองทหารคอสแซ็คเท่านั้น และต่อมาก็ยิ่งจำกัดเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นแต่เฉพาะนายทหารระดับสูง
คริสต์ศตวรรษที่ 20
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยจำนวนมาก จนทำให้เกิด "กระแสประชาธิปไตย" ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งมักเป็นผลมาจากสงคราม การปฏิวัติ การปลดปล่อยอาณานิคม และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและศาสนา
ภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมัน ทำให้เกิดรัฐชาติจำนวนมากในทวีปยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ระบอบประชาธิปไตยได้มีการเจริญขึ้น แต่ผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ได้ทำให้ความเจริญดังกล่าวหยุดชะงักลง และประเทศในแถบยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชีย ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่การปกครองในระบอบเผด็จการมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นฟาสซิสต์ ในนาซีเยอรมนี อิตาลี สเปนและโปรตุเกส รวมไปถึงรัฐเผด็จการในแถบคาบสมุทรบอลติก คาบสมุทรบอลข่าน บราซิล คิวบา สาธารณรัฐจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น[36]
ทว่าภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้เกิดผลกระทบในด้านตรงกันข้ามในทวีปยุโรปตะวันตก ความสำเร็จในการสร้างระบอบประชาธิปไตยในเขตยึดครองเยอรมนีของสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส ออสเตรีย อิตาลี และญี่ปุ่นสมัยยึดครอง ซึ่งได้เป็นต้นแบบของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก รวมไปถึงเขตยึดครองของโซเวียตในเยอรมนี ซึ่งถูกบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ตามค่ายตะวันออก หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองยังส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยอาณานิคม และประเทศเอกราชใหม่ส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอินเดียได้กลายมาเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง[37]
ในช่วงหนึ่งทศวรรษภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาติตะวันตกที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ได้มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม และดำเนินการตามรูปแบบรัฐสวัสดิการ สะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องกันระหว่างราษฎรกับพรรคการเมือง ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 เศรษฐกิจทั้งในกลุ่มประเทศตะวันตกและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ในภายหลังเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลได้ลดลง เมื่อถึงปี ค.ศ. 1960 รัฐชาติส่วนใหญ่ได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะยังคงมีการจัดการเลือกตั้งแบบตบตา และการปกครองในรูปแบบอื่น ๆ อยู่
กระแสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของรูปแบบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยในหลายรัฐชาติ เริ่มจากสเปน โปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1974 รวมไปถึงอีกหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงมาจากระบอบเผด็จการทหาร มาเป็นรัฐบาลพลเรือน ตามด้วยประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ระหว่างช่วงต้นถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 และเนื่องจากความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต รวมไปถึงความขัดแย้งภายใน ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย และนำไปสู่จุดสิ้นสุดของสงครามเย็น ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองภายในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกในค่ายตะวันออกเดิม
นอกเหนือจากนั้น กระแสของระบอบประชาธิปไตยได้แพร่ขยายไปถึงบางส่วนของทวีปแอฟริกา ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาใต้ ความพยายามบางประการในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองยังพบเห็นอยู่ในอินโดนีเซีย ยูโกสลาเวีย จอร์เจีย ยูเครน เลบานอนและคีร์กีซสถาน
จนถึงปัจจุบันนี้ ทั่วโลกได้มีประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจำนวน 123 ประเทศ (ค.ศ. 2007) และกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[38] ซึ่งได้มีการคาดเดากันว่า กระแสดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ที่ซึ่งประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยจะกลายเป็นมาตรฐานสากลสำหรับสังคมมนุษยชาติ สมมุติฐานดังกล่าวเป็นหัวใจหลักของทฤษฎี "จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์" โดยฟรานซิส ฟุกุยะมะ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บรรดาผู้ที่เกรงกลัวว่าจะมีวิวัฒนาการของประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างมากไปยังยุคหลังประชาธิปไตย และผู้ที่ชี้ให้เห็นถึงประชาธิปไตยเสรี

ลักษณะสำคัญ
ถึงแม้ว่าในทฤษฎีการเมือง คำว่า "ประชาธิปไตย" สามารถหมายถึงทั้งระบอบการปกครองและปรัชญาการเมือง ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่มีการนิยามที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม แต่ในปัจจุบัน ได้ปรากฏให้เห็นหลักการสองหลักการที่ให้การนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย"
ประการแรก เห็นว่าบรรดาพลเมืองหรือสมาชิกในสังคมย่อมมีความเสมอภาคกันในการเข้าถึงอำนาจ
ประการที่สอง เห็นว่าพลเมืองย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยเสมอกัน
หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ "การยอมรับนับถือความสำคัญและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ความเสมอภาคและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต"[39] และจากหลักการพื้นฐานดังกล่าว จึงสามารถประมวลลักษณะสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ดังนี้[39]
ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงกล่าวได้ว่า ประชาชนเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐ
ประชาชนทุกคนในรัฐมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ตลอดจนมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
การดำเนินการของรัฐจำเป็นต้องถือตามมติเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน แต่เสียงส่วนน้อยในรัฐจะต้องได้รับการคุ้มครองความเป็นธรรมตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
การปกครองแบบประชาธิปไตย จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐ
อย่างไรก็ตาม หากประชาธิปไตยมิได้รับการควบคุมอย่างรอบคอบโดยกฎหมายเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายอำนาจทางการเมืองด้วยการถ่วงดุลอำนาจ อย่างเช่น การแบ่งแยกอำนาจการปกครอง แล้ว อาจส่งผลให้ฝ่ายบริหารอำนาจสามารถสะสมอำนาจจนอาจเป็นอันตรายแก่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้[40][41][42] นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ลักษณะเด่นของการปกครองในระบอบนี้คือ "การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์" แต่ถ้าหากรัฐบาลปราศจากความรับผิดชอบแล้ว เสียงข้างมากก็อาจไม่แยแสสิทธิของเสียงข้างน้อย ชนิดที่เรียกว่าเป็น "เผด็จการโดยเสียงข้างมาก" เลยทีเดียว ดังนั้น กระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน จึงได้แก่การเลือกตั้ง ซึ่งควรเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ประกอบกับการคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อมวลชน อันจะยังให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและตัดสินใจใช้สิทธิ์ใช้เสียงเพื่อประโยชน์ของตนได้[43][44]
ถึงแม้ว่า มโนทัศน์ในเรื่อง "อำนาจอธิปไตยของปวงชน" (อังกฤษ: popular sovereignty) จะสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศที่นำหลักการประชาธิปไตยไปใช้ก็ตาม แต่แนวคิดดังกล่าวก็มิใช่หลักปรัชญาสำคัญระดับสากลอันส่งผลกระตุ้นให้เกิดการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ เพราะในบางประเทศมองว่าประชาธิปไตยมีพื้นฐานมาจากความเสมอภาคกันในการมีสิทธิ โดยคนจำนวนมากเห็นว่าประชาธิปไตยที่ดีได้แก่ "เสรีประชาธิปไตย" และอาจมีองค์ประกอบเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น การพหุนิยมทางการเมือง หลักนิติธรรม (อังกฤษ: rule of law) และสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ (อังกฤษ: right of petition) เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดมีวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (อังกฤษ: due process of law) เสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน และบทบาทของภาคประชาสังคม (อังกฤษ: civil society) เป็นอาทิ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาหมายเอาการแบ่งแย่งอำนาจการปกครอง เป็นคุณลักษณะของประชาธิปไตย และในประเทศอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักร นั้นหมายเอาการบริหารอำนาจอธิปไตยโดยกระบวนการของรัฐสภาและองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระ นอกจากนี้ ในบางกรณียังมีการใช้คำ "ประชาธิปไตย" สื่อถึงประชาธิปไตยทางตรง ด้วย เหนือสิ่งอื่นใด ถึงแม้คำว่า "ประชาธิปไตย" จะนิยมใช้ในบริบาทของรัฐทางการเมืองเป็นหลัก แต่ว่ามโนทัศน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังสามารถใช้แก่ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นเช่นกัน

1 ความคิดเห็น:

  1. ข่าวการโจมตีซีเรียทำให้สังคมอเมริกาตื่นตัว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เกิดประเด็นถกเถียงว่ารัฐบาลโอบมาเข้าใจความต้องการของประชาชนหรือไม่ หรือว่าคนอเมริกันต่างหากที่ต้องเข้าใจความเป็นไปของโลกให้มากกว่านี้ หรือว่าแท้ที่จริงแล้วการตัดสินใจของรัฐบาลขึ้นกับหลายปัจจัย คำว่า “เพื่อประชาชน” มีความหมายซับซ้อนกว่าที่คิด
    http://www.chanchaivision.com/2013/09/Democracy-in-America-Debate-over-Syria.html

    ตอบลบ