วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความหมายและบทบาทของพรรคการเมือง


“พรรคการเมือง คือคณะบุคคลที่รวมตัวกันด้วยความเห็นพ้องในนโยบายทางการปกครองและดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อจะได้มาซึ่งอำนาจเพื่อปฏิบัติตามนโยบายนั้น”

พรรคการเมืองตามนิยามข้างต้นนี้ ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ มีฐานะทางประวัติศาสตร์เป็นพาหนะสำคัญในการนำการปกครองของอังกฤษให้ก้าวล่วงจากระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยการยืนยันว่าระบบรัฐสภานั้นมิใช่ว่าจะให้ ส.ส. ลงมติเห็นชอบในนโยบายใดก่อน แล้วจากนั้นจึงจะให้พระมหากษัตริย์เลือกผู้ใดเป็นรัฐบาลเพื่อปฏิบัติตามนโยบายนั้นต่อไป ทั้ง ๆ ที่ตัวบุคคลที่เป็นรัฐบาลนั้น อาจจะไม่เห็นชอบในนโยบายนั้นเลยก็ได้

หลักการข้างต้นของพระมหากษัตริย์ที่แยกตัวบุคคลออกจากนโยบายนี้ ฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายที่สนับสนุนระบบพรรคการเมืองได้ยืนยันว่าไม่ถูกต้อง เพราะนโยบายใดจะนำไปปฏิบัติให้บรรลุผลได้ ก็ต้องอาศัยตัวบุคคลเจ้าของนโยบายนั้นเป็นผู้ปฏิบัติด้วย สภาผู้แทนจึงมิใช่สนามแก่งแย่งเก้าอี้เพื่อเก้าอี้ หรือเป็นเหมือนแหล่งที่พระมหากษัตริย์จะมาขอนโยบายและเลือกรัฐบาลเอาตามอำเภอใจอีกต่อไป หากจะต้องเป็นแหล่งที่ ส.ส. จะต่อสู้กันด้วยนโยบาย ฝ่ายใดชนะในนโยบายก็ต้องได้เป็นรัฐบาลเพื่อปฏิบัติตามนโยบายนั้น การเปลี่ยนรัฐบาลจึงหมายถึงการเปลี่ยนนโยบาย และการเปลี่ยนนโยบายก็หมายถึงการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยเช่นกัน โดยการยืนยันเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จึงต้องทรงเป็นกลางในทางการเมือง และยอมรับแต่งตั้งรัฐบาลจากพรรคเสียงข้างมากผู้เป็นเจ้าของนโยบายเสียงข้างมากนั้นเสมอ

ความคิดเช่นนี้แม้ในปัจจุบันจะไม่เป็นที่แปลกหูของคนทั่วไป แต่ในสมัยนั้นก็นับเป็นการปฏิวัติความคิดกันเลยทีเดียว เพราะได้ชี้ให้เห็นว่า การแบ่งกลุ่มแบ่งพรรคพวกเพื่อแย่งอำนาจกันนั้น ถ้ามีนโยบายเป็นข้อแตกต่างแล้ว ก็เป็นระบบที่ชอบธรรมสอดคล้องกับประชาธิปไตยได้ และเมื่อได้ผู้นำที่เก่งกาจประกอบแนวความคิดที่แตกต่างกันแล้ว วิวัฒนาการของพรรคการเมืองก็จะเกิดขึ้น จนหมดระบบพรรคพวก และหมดอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลของพระมหากษัตริย์ไปในที่สุดซึ่งต่อมาเมื่ออังกฤษได้ขยายสิทธิ์เลือกตั้งไปยังประชาชนโดยไม่จำกัดฐานะและเพศแล้ว ความเป็นประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์นับแต่นั้น ด้วยที่ว่างอันชอบธรรมที่ระบอบประชาธิปไตยมีให้แก่พรรคการเมืองนี้ การปกครองโดยพรรคการเมืองก็จะเกิดขึ้นเป็นส่วนควบคู่ไปกับการปกครองโดยผู้แทน โดยจะมีบทบาทเป็นตัวจัดวางให้ทัศนคติอันคับแคบ และความต้องการอันใช้ทิศทางของเอกชน เกิดเป็นระเบียบเป็นระบบอันเป็นประโยชน์ต่อการปกครองโดยผู้แทน ดังนี้

1) พรรคการเมืองจะเป็นผู้ประมวลปัญหาและความต้องการต่าง ๆ ในสังคม ออกมาเป็นนโยบายสาธารณะ โดยอาจจะมาจากการริเริ่มของพรรคเอง หรือจากการเรียกร้องของประชาชนก็ได้

2) พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอทางเลือกต่อประชาชนทั้งแง่ตัวบุคคลและนโยบายทำให้สามารถพิจารณาใช้สิทธิเลือกตั้งของตนได้ชัดเจนขึ้น

3) พรรคการเมืองมีหน้าที่นำนโยบายไปปฏิบัติ ให้ประชาชนเห็นจริงเห็นจังว่าเสียงของตน ความเห็นของตนนั้นเมื่อผสานกับผู้อื่นแล้ว ก็จะมีผลกำหนดการปกครองได้ ทำให้สิทธิเลือกตั้งมีความหมายต่อประชาชนในที่สุด

4) พรรคการเมืองเป็นตัวการทำให้ประชาชนตื่นตัวในทางการเมืองอยู่เสมอทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง

5) พรรคการเมืองช่วยให้ระบบรัฐบาลเป็นระเบียบและมีวินัย แต่ก็มิใช่เผด็จการเพราะประชาชนอาจถอนความไว้วางใจได้เสมอ

6) ด้วยฐานะที่กว้างขวางของพรรคการเมือง เพราะความจำเป็นที่จะต้องได้เสียงสนับสนุนจากส่วนรวม พรรคการเมืองจะพยายามประสานความต้องการเฉพาะกลุ่มของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ และท้องถิ่นต่าง ๆ ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะได้

เท่าที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองตามหลักการนี้จะเป็นตัวการ เป็นต้นกำเนิดของการสถาปนาระบบความรับผิดชอบในการปกครองระบบผู้แทนให้เป็นไปได้เลยทีเดียว และขณะเดียวกันก็จะมีผลกระทบเปลี่ยนแปลงรูปโฉมการปกครองในนระบบรัฐสภาแบบดั้งเดิมไปไม่น้อย เช่น

ระบบสองพรรคในอังกฤษ ได้ทำให้การเลือกตั้งผู้แทน มีผลเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีไปในตัว แต่ก็ไม่อาจจะเปรียบเทียบเลยไปว่าเหมือนกับการเลือกประธานาธิบดีได้ เพราะตัวนายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบต่อคะแนนเสียงภายในพรรคอยู่

ในส่วนของฝรั่งเศสนั้น ระบบหลายพรรคที่มีอยู่ก็เป็นเหตุให้สร้างระบบรัฐสภาที่มีเสถียรภาพขึ้นมาได้ลำบาก จนต้องพยายามจัดระเบียบระบบรัฐสภาอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่ได้ผลก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นระบบกึ่งประธานาธิบดี ให้คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทั้งต่อสภาและต่อประธานาธิบดีในที่สุด

นอกจากจำนวนพรรคแล้ว ลักษณะความคิดของพรรคก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เช่นถ้าเป็นพรรคที่เน้นถึงความแตกต่างทางหลักการและนโยบายจนเป็นอุดมคติ เช่นนี้ความขัดแย้งในสังคมก็จะสูงขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลก็ทำได้ยากลำบาก จนประชาธิปไตยต้องล้มเหลวถูกเผด็จการยึดครองไปก็ได้ เช่นการปกครองของเยอรมันในสมัยรัฐธรรมนูญไวมาร์ เป็นต้น

ปัญหาประการสุดท้ายในเรื่องระบบพรรคก็คือความเป็นประชาธิปไตยภายใต้ระบบพรรคซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย เพราะถ้าประชาชนติดพรรคจนเกินไปแล้ว การตัดสินใจของพรรคก็จะเป็นการตัดสินใจแทนประชาชนไปในตัว เช่น การตัดสินใจเลือกบุคคลลงสมัครในเขตอันเป็นฐานทัพของพรรค ก็จะมีผลเป็นการกำหนดตัว ส.ส. ไปโดยปริยาย เพราะประชาชนจะเลือกพรรคนั้นอย่างแน่นอนอยู่แล้ว ปัญหาในข้อนี้จงฝากไว้กับประชาชนเองว่า จะหลงเหลือความรับผิดชอบต่อตัวเองสักเพียงใด หากงมงายไปกับพรรคแล้ว พรรคก็จะกลายเป็นเจ้านายประชาชนไปในที่สุด หรือถ้าเป็นพรรคเดียวในแผ่นดินแล้ว กรณีนี้ก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องพูดถึงแต่อย่างใด

นอกจากความเป็นตัวของตัวเองของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ตัวกำหนดประชาธิปไตยก็ยังอยู่ที่โครงสร้างภายในพรรคด้วยหากเป็นพรรคที่ขาดการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น สมาชิกในระดับท้องถิ่นก็มีฐานะเป็นผู้รับนโยบาย และเลือก ส.ส. ตามที่กรรมการพรรคจะกำหนดตัวผู้สมัครให้เท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ก็มีแนวโน้มให้เกิดเผด็จการโดยพรรคได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น