วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความรู้เรื่องการเลือกตั้งของไทย


ความรู้เรื่องการเลือกตั้งของไทย
ประชาชนมีหน้าที่เลือกตั้ง
มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของบุคคลเหมือนกับ หน้าที่การเสียภาษี ดังนั้นบุคคลที่มีสัญญาติไทยโดยการเกิด หรือได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเขตเลือกตั้ง หรือนอกเขตเลือกตั้ง หรือแม้แต่พำนักอยู่ในต่างประเทศ ทุกคนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
1. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
2. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
3. ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
4. อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
การใช้สิทธิเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
1. ผู้ที่มีสัญชาติไทย ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

การตรวจดูรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
1. ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ
2. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
3. ประชาชนสามารถไปตรวจดูรายชื่อ และขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งปี

บัตรเลือกตั้ง
บัตรเลือกตั้งมี 2 แบบ
1. บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
2. บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

ลักษณะของบัตรเลือกตั้งมีสีต่างกัน และมีต้นขั้วบัตรเลือกตั้งสำหรับพิมพ์ลายนิ้วมือหัวแม่มือขวา ที่มุมบนด้านขวาของบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 แบบ

วิธีการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง
1. แสดงบัตรประจำประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ที่หน่วยเลือกตั้ง
2. รับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 แบบ (บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 1 ใบ และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 1 ใบ)
3. พิมพ์ลายนิ้วมือหัวแม่มือขวาที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้รับบัตรเลือกตั้งแล้ว (ถ้ามีการร้องเรียนว่าที่หน่วยเลือกตั้งนั้นมีการทุจริตการเลือกตั้ง ต้นขั้วนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญในการตรวจสอบ)
4. เข้าคูหา ทำเครื่องหมายกากบาทในบัตรเลือกตั้ง
- กากบาทเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงหมายเลขเดียว ที่บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
- กากบาทเลือกพรรคการเมืองเพียงหมายเลขเดียว ที่บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
- ถ้าไม่ต้องการลงคะแนนให้ใคร หรือพรรคการเมืองใด กากบาทที่ช่องไม่ลงคะแนน
5. หย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตนเองทีละใบ ต่อหน้ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

ปัจจุบันการเลือกตั้งมี 2 แบบ คือ
1. การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
2. การเลือกตังแบบบัญชีรายชื่อ

การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
ส.ส. จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมีจำนวน 400 คน
มาตรา 98 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 99 จำนวน 100 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 102 จำนวน 400 คน" เลือกตั้ง ส.ส. เขตละ 1 คน
มาตรา 102 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ 1 คน"
มาตรา 103 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน 1 คน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 1 คนให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีโดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน"ดังนั้นประเทศไทยจึงมีเขตเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 400 เขต

การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพรรค โดยทั่วไปเรียกว่าเลือกตั้งแบบสัดส่วน พรรคต่าง ๆ จะได้ รับจำนวนที่นั่งในสภาฯ ตามสัดส่วนของคะแนนที่ได้รับ สำหรับพรรคที่ได้รับคะแนนไม่ถึงร้อยละ 5 ของคะแนนทั้งหมด ก็จะไม่ได้ที่นั่งในสภาฯ จากการเลือกตั้งระบบนี้
การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครโดยเสนอเป็นรายชื่อเรียงลำดับไม่เกินบัญชีรายชื่อละ 100 คน บุคคลในบัญชีรายชื่อจะต้องไม่ซ้ำกับผู้สมัครแบบแบ่งเขต และผู้สมัครในบัญชีรายชื่อพรรคอื่น นอกจากนี้จะต้องประกอบด้วยรายชื่อจากภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม (ไม่ใช่มีแต่คนกรุงเทพฯ หรือคนในภูมิภาคหนึ่งใดโดยเฉพาะ) เมื่อมีการสมัครแล้วหมายเลขที่บัญชีรายชื่อนั้นได้รับ จะถือว่าเป็นหมายเลขประจำพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้การรับสมัครแบบแบ่งเขตจะกระทำขึ้นภายหลัง โดยผู้สมัครแบบแบ่งเขตที่ส่งโดยพรรคใดจะได้รับหมายเลขเดียวกันกับพรรคนั้น บัญชีรายชื่อที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศไม่ถึงร้อยละ 5 ให้ถือว่าไม่มี ส.ส. จากบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น เมื่อตัดบัญชีรายชื่อและคะแนนของบัญชีรายชื่อเหล่านี้ออกไปแล้ว บัญชีที่เหลือแต่ละบัญชีจะมี ส.ส.ได้กี่คน ขึ้นอยู่กับว่าบัญชีรายชื่อนั้นได้คะแนนรวมร้อยล่ะเท่าไร

วิธีการนับคะแนน
ในการนับคะแนนให้เอาคะแนนที่แต่ละบัญชีรายชื่อได้รับจาก 400 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศมารวมกัน วิธีคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้ทำดังนี้

ให้จำนวนคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อรวม 400 เขตเลือกตั้งทั้งประเทศ = A
บัญชีรายชื่อใดได้รับคะแนนไม่ถึงร้อยละ 5 ของ A ให้ตัดออกไป
เมื่อตัดบัญชีรายชื่อที่ได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 5 ออกไปแล้ว ให้จำนวนคะแนนเสียงจาก บัญชีรายชื่อที่เหลือรวมกันทั้งประเทศเท่ากับ B
ให้ถือ B/100 = 0.01 B เป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน
คะแนนเสียงที่บัญชีรายชื่อได้รับ/0.001 B = จำนวน ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อนั้น + เศษ/0.01 B ผู้ที่ได้เป็น ส.ส. คือรายชื่อแรกของบัญชีรายชื่อ ไล่ไป ตามลำดับจนครบจำนวน ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อนั้น
ถ้ารวมจำนวน ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งแล้วยังไม่ครบ 100 คน ให้เพิ่ม ส.ส. ให้แก่บัญชีรายชื่อที่มีเศษมากที่สุดอีกหนึ่งคน เรียงตามลำดับจนกว่าจำนวน ส.ส. รวมแล้วได้ 100 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น